วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

รัฐบาลไทย (คณะรัฐมนตรี)

ความหมายและความสำคัญ


คณะรัฐมนตรี ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง คณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทําหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน.



รัฐมนตรี ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ผู้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรี หรือ คณะรัฐบาล รับผิดชอบร่วมกับ คณะรัฐมนตรีในนโยบายทั่วไปของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน, ถ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือทบวง ก็เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกระทรวงหรือทบวงที่ตนว่าการ และรับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวงหรือทบวงนั้นด้วยอีกฐานะหนึ่ง (คำว่ารัฐมนตรีนี้ในสมัยโบราณ หมายถึง ที่ปรึกษาราชการบ้านเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์). [2] รัฐมนตรี (Minister) ของกระทรวงต่างๆนี้ เมื่อได้รับการแต่งตั้งครบทุกกระทรวงตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันนี้ในฐานะผู้นำในการบริหารประเทศ ก็จะเรียกรวมกันว่าเป็น คณะรัฐมนตรี



คณะรัฐมนตรี (Cabinet) จึงเป็นคณะบุคคลที่ประกอบด้วยบุคคลผู้มีตำแหน่งต่างๆกันหลายคน มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา[3] ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย อันประกอบด้วย หัวหน้าคณะ 1 คน ซึ่งมักเรียกว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง



นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ มีอำนาจเรียกประชุม กำหนดเรื่องที่จะประชุม เป็นประธานในที่ประชุม และขอมติจากที่ประชุม ตลอดจนบังคับบัญชา หรือสั่งการในเรื่องต่างๆ



องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญในอดีตกำหนดจำนวนรัฐมนตรีไว้แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา171 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน รวมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะไม่เกิน 36 คน[4] คณะรัฐมนตรีในที่นี้ อาจประกอบด้วย รัฐมนตรีประเภทต่างๆได้แก่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีว่าการทบวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง[5] ซึ่งจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ได้ แต่จำนวนรวมกันต้องไม่เกินจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (กรณีที่ แต่งตั้งบุคคลคนเดียวให้ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง จะยึดจำนวนคนเป็นหลักไม่ใช่นับตามตำแหน่ง เช่น เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะนับว่าเท่ากับคนเดียว)



ความสำคัญของคณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมีอำนาจสูงสุดในแต่ละหน่วยงาน จึงอาจสรุปว่า คณะรัฐมนตรีมีความสำคัญใน 3 ด้าน[6] คือ



1. ด้านกฎหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นผู้ใช้กฎหมายโดยตรง และเป็นผู้เสนอกฎหมายต่างๆเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารกิจการราชการต่างๆของประเทศให้เป็นไปโดยราบรื่น



2. ด้านนโยบายการเมือง[7] คณะรัฐมนตรีนั้นเป็นองค์กรสูงสุดที่มีกำหนดนโยบายทั้งระดับภายในและภายนอกประเทศ โดยภายในประเทศเป็นผู้กำหนดการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ส่วนภายนอกประเทศมีอำนาจกระทำการผูกพันในฐานะตัวแทนของรัฐหรือประเทศและมีผลผูกพัน



3. ด้านอำนาจ ถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจทางด้านการบริหาร ซึ่งมีอำนาจกำหนดนโยบายต่างๆซึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดทิศทางของประเทศ และยังมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการข้าราชการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในทุกระดับทั่วประเทศ ดังนั้นอำนาจที่มากมายเหล่านี้ย่อมกระทบต่อประชาชนโดยรวมอย่างกว้างขวาง ผู้ใช้อำนาจจึงควรใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรม ตามหลัก ธรรมาภิบาล



คณะรัฐมนตรีนั้น กฎหมายถือว่า เป็นข้าราชการประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็น "ข้าราชการการเมือง" ซึ่งเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุทางการเมือง จะต่างจากข้าราชการประจำทั่วๆไป ดังนั้น คำว่า "คณะรัฐมนตรี" เป็นคำที่ใช้ ในกฎหมาย มุ่งหมายถึงเฉพาะข้าราชการการเมืองผู้มีตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าว ตรงกับที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า "Council of Ministers" หรือ "Cabinet" ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้ควบคู่กันคือคำว่า "รัฐบาล" หรือ "Government" ในบางครั้งคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ บางครั้ง คำว่ารัฐบาลอาจมีความหมายกว้างกว่านั้น เพราะอาจรวมไปถึงข้าราชการประจำและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของฝ่ายบริหาร อีกด้วย เพื่อแยกให้ เห็นว่า เป็นคนละฝ่ายกับภาคเอกชน และคนละฝ่ายกับสมาชิกรัฐสภา[8] จึงอาจกล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะที่เป็นทั้งหัวหน้าของคณะรัฐมนตรีและหัวหน้ารัฐบาลไปพร้อมๆกัน



ประวัติความเป็นมาของคณะรัฐมนตรี

ในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีที่มาจากคณะเสนาบดีในอดีต ตั้งแต่สมัยอยุธยาเริ่มมีเสนาบดีเวียง วัง คลัง นา รับผิดชอบแต่ละฝ่าย และยังมีเสนาบดีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้แนวคิดเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ได้ถูกเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรกในช่วง ปี รศ.103 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าสภาพบ้านเมืองขณะนั้นยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเต็มรูปแบบ แต่ก็ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองใหม่ครั้งใหญ่ โดยทรงจัดตั้งกระทรวงต่างๆขึ้น มีเสนาบดีเป็นหัวหน้ากระทรวง ทำหน้าที่ในลักษณะของคณะรัฐมนตรีแต่พระมหากษัตริย์ยังคงทรงเป็นประธาน[9] โดยระบบคณะเสนาบดีนี้ได้ดำเนินมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา เพื่อทำหน้าที่ถวายคำปรึกษา แต่แนวคิดเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีก็ยังคงมีอยู่ดังปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของพระยากัลยาณไมตรี มาตรา 3-5[10] ซึ่งได้ถูกคัดค้านและไม่มีการนำมาปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตามอาจสรุปได้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์โดยตรง[11] แม้บางครั้งจะมีคณะบุคคลร่วมทำงานในการเป็นที่ปรึกษาต่างๆ หรือช่วยบริหารงานราชการกระทรวงต่างๆก็ตาม



คณะรัฐมนตรีเต็มรูปแบบในระบบรัฐสภาคณะแรกของไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เดิมนั้นใช้ชื่อว่า คณะกรรมการราษฎร เกิดขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้ใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 โดยสภาผู้แทนราษฎรได้เลือก มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร จากนั้นประธานคณะกรรมการราษฎรจึงได้เสนอชื่อคณะกรรมการราษฎรให้สภาอนุมัติซึ่งคณะกรรมการราษฎรนี้ไม่มีการแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภา โดยถือเอาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นนโยบายของรัฐบาล ในระหว่างที่ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทักท้วงว่าการใช้คำว่า "กรรมการราษฎร" แทน "Minister" หรือ "เสนาบดี"ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ทรงเห็นว่าไม่ไพเราะและ ไม่ค่อยถูกต้องนัก[12] เพราะฟังดูเป็นโซเวียต ในรัฐสภาจึงถกเถียงกันในเรื่องนี้อย่างมาก และที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติให้ใช้คำว่า “รัฐมนตรี” แทน “กรรมการราษฎร” และใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” แทน “ประธานคณะกรรมการราษฎร” และคำว่า “คณะรัฐมนตรี” แทนคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งคำว่าคณะรัฐมนตรีหมายถึง “ข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดิน” มิใช่ที่ปรึกษาของแผ่นดินอีกต่อไป[13] และประกาศ ใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นับแต่นั้นมา[14] ปัจจุบันประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 59 คณะ



คุณสมบัติของรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 174 ได้กำหนดว่า รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม[15] โดยสรุปดังต่อไปนี้



(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด



(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์



(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า



(4) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 102 (1) (2) (3) (4) (6) (7) (8) (9) (11) (12) (13) หรือ (14) (ได้แก่ ติดยาเสพติดยาเสพติดให้โทษ เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือถูกคุมขังโดยหมายของศาล เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เป็นต้น)



(5) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ



(6) ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี



อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

เมื่อพิจารณาตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฏีกา ตลอดจนระเบียบหรือ มติคณะรัฐมนตรี[16] แล้ว อำนาจหน้าที่หลักๆ ของคณะรัฐมนตรีสรุปได้ ดังนี้



1. กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน



2. บริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์



3. รับสนองพระบรมราชโองการเกี่ยวกับกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน



4. เสนอกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งออกพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ ในกรณีฉุกเฉินรีบด่วนมีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือปัดป้องภัยภิบัติสาธารณะ นอกจากนี้มีอำนาจออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ โดยต้องไม่ขัดต่อกฎหมายลำดับสูงกว่า



5. เป็นผู้บริหารสูงสุดในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวง วางระเบียบข้อบังคับของแต่ละกระทรวง พิจารณา ตัดสินใจ วินิจฉัยชี้ขาด ลงมติ เรื่องต่างๆตามที่แต่ละกระทรวงเสนอมา



6. มีสิทธิเข้าประชุม เพื่อชี้แจงและ แถลงข้อเท็จจริงในที่ประชุมสภา แต่ไม่มีสิทธิออกคะแนนเสียง หรือในกรณีสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภามีมติให้รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมในเรื่องใด ก็ต้องเข้าประชุม และมีสิทธิร้องขอให้มีการประชุมลับ



7. ในกรณีมีเรื่องสำคัญและต้องการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา มีสิทธิเสนอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติได้



8. เสนอให้มีการออกเสียงประชามติในกรณีกิจการใดที่เป็นเรื่องมีผลดีผลเสียกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่



9. อำนาจหน้าที่อื่นๆ ซึ่งกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เช่น การประกาศใช้และการเลิกใช้กฎอัยการศึก การประกาศสงคราม การอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษ และการถอดถอนฐานันดรศักดิ์ เป็นต้น



10. อำนาจหน้าที่เฉพาะอื่นๆ ตามบทบัญญัติในกฎหมายต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย



จากบทบาทที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น มิอาจปฏิเสธได้เลยว่า คณะรัฐมนตรี เป็นองค์กรที่ความสำคัญมาก จนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐนาวา หากมีคณะรัฐมนตรีที่ดีมีศักยภาพ ปกครองประเทศโดยหลักนิติรัฐ ใช้อำนาจในทางที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อชาติ ก็ย่อมจะนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จทัดเทียมนานาประเทศสืบไป

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

การบริหารราชการแผ่นดิน     
      ประเทศไทยได้ยึดหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภาเช่นนี้มานับแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยระบอบการปกครองนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินจำต้องมีคณะบุคคลขึ้นมารับผิดชอบ มีบุคคลหนึ่งทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้บริหาร ที่พร้อมจะถูกควบคุม ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจทางการบริหารจากรัฐสภา ตามแนวคิดอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศเป็นของปวงชน ที่แต่ละฝ่ายต่างมีความเป็นอิสระในการใช้อำนาจของตนเอง แต่ยังมีการควบคุมและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

ความหมาย


การบริหารราชการแผ่นดิน หมายถึง การกำหนดนโยบายและทิศทางว่าจะจัดการปกครองประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การต่างประเทศ ไปในแนวทางใดและใช้วิธีการใด จึงจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยการจัดหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ งบประมาณ เครื่องมือเครื่องใช้ และออกกฎ ระเบียบต่าง ๆ มารองรับ ตลอดจนการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายตามที่อำนาจนิติบัญญัติคือรัฐสภาให้ความเห็นชอบตราขึ้นใช้บังคับ



การบริหารราชการแผ่นดินในอดีตของไทย

ในสมัยกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ใดในการบริหารปกครองบ้านเมือง แต่จากหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 พบว่า มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และให้ราษฎรช่วยกัน "ถือบ้านถือเมือง" ครั้นล่วงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แยกการบริหารออกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบด้านพลเรือนบริหารกิจการเกี่ยวกับเวียง วัง คลัง และนา และมีสมุหกลาโหมรับผิดชอบด้านการทหารและการป้องกันประเทศ แต่ภายหลังทั้งสมุหนายกและสมุหกลาโหมต้องรับผิดชอบทั้งด้านการทหารและพลเรือนพร้อมกัน แต่ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นหัวเมืองด้านใต้ให้อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหกลาโหม และหัวเมืองด้านเหนือให้อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก



ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยยกเลิกตำแหน่งตำแหน่งสมุหนายก และสมุหกลาโหม รวมทั้งจตุสดมภ์ด้วย และได้จัดระเบียบบริหารราชการออกเป็นกระทรวง ตามแบบอย่างประเทศตะวันตก ให้มีเสนาบดีเป็นผู้รับผิดชอบแต่ละกระทรวงทั้ง 12 กระทรวง มีปลัดทูลฉลองเป็นผู้กลั่นกรองงานและช่วยราชการภายในกระทรวง มีการประชุมคณะเสนาบดีซึ่งพระมหากษัตริย์ประทับเป็นองค์ประธาน หรือให้ที่ประชุมเลือกประธานเป็นครั้งคราว การบริหารราชการแผ่นดินในรูปคณะเสนาบดีได้ดำเนินมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการจัดตั้งองคมนตรีสภา ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาในการปกครองและการออกกฎหมายทำนองเดียวกับรัฐสภา และจัดตั้งเสนาบดีสภา เป็นที่ประชุมปรึกษาหารือข้อราชการของเสนาบดีทั้งหลาย



การบริหารราชการแผ่นดินก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์โดยตรง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง การกำหนดนโยบายในการบริหาร การควบคุมการบริหาร ล้วนแต่เป็นเรื่องของพระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัย



เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 กำหนดให้มีคณะบุคคลขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินเรียกว่า "คณะกรรมการราษฎร" มี "ประธานกรรมการราษฎร" ทำหน้าที่หัวหน้าคณะ ต่อมาเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้ว ตำแหน่งเหล่านี้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "คณะรัฐมนตรี" รับผิดชอบร่วมกันในการบริหารราชการแผ่นดิน มี "รัฐมนตรี" รับผิดชอบบริหารราชการในกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย โดยมี "นายกรัฐมนตรี" ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน



ผู้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน

ในการบริหารราชการแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากตามการกราบบังคมทูลของประธานสภาผู้แทนราษฎร และทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนตามการกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องไม่กระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อนำแนวนโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอต่อประชาชนในคราวหาเสียงเลือกตั้ง หรือที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมให้ผู้สมัครของพรรคได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน มาปฏิบัติเป็นนโยบายให้เกิดผลอย่างแท้จริง และชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ และเมื่อเข้ารับหน้าที่แล้ว ต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการแต่ละปี



บรรดารัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการในกระทรวงที่ได้รับมอบหมายแต่งตั้งนั้น ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี หรือในเมื่อมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ โดยที่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้



ในการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงข้างมากนั้น เพื่อให้สถานะของนายกรัฐมนตรีมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประชาชนผ่านทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทย และย่อมส่งผลให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในฐานะผู้นำของประเทศ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภา



การบริหารราชการแผ่นดินตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 วางแนวทางให้รัฐต้องดำเนินการตามแนว นโยบายด้านบริหารราชการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้



1. การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ อย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ



2. จัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้มีขอบเขต อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจนเหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ และสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณ เพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่



3. กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น



4. พัฒนาระบบงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ



5. การจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่น เพื่อให้การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน



6. ดำเนินการให้หน่วยงานทางกฎหมาย ที่มีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐตามกฎหมายและตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐ ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นไปตามหลักนิติธรรม



7. จัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง รวมทั้งจัดให้มีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระ เพื่อติดตามสอดส่องให้มีการปฏิบัติตามแผนและมาตรฐานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด



8. ดำเนินการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสม



การวางแนวทางดังกล่าวไว้นี้ มีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามหลัก การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ โดยที่รัฐต้องกำหนดขอบเขตและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจหน้าที่ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้ชัดเจน สนับสนุนให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม สนับสนุนงบประมาณให้จังหวัด มีศักยภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของประชาชน ให้ความสำคัญ แก่การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนาทุกด้านตามแนว นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องที่เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น



ในด้านบุคลากร ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ให้มีความสามารถคู่คุณธรรมและจริยธรรม จัดระบบงานเพื่อบริการสาธารณะให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ พัฒนาวิธีปฏิบัติราชการโดยยึดหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาลในการบริหาราชการแผ่นดิน โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสม เช่น การรักษาพยาบาล บำเหน็จ บำนาญ เป็นต้น



การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศต่าง ๆ มีปรากฏให้เห็นทั้งที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี ส่วนสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็นบริหารส่วนกลาง คือรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น หรือรัฐบาลมลรัฐ สำหรับประเทศที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่เด่นชัดมี 2 ประเทศ คือ ไทย และฝรั่งเศส



การจัดระเบียบบริหารราชการออกเป็น 2 หรือ 3 ส่วนนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล สภาพของประเทศ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมด้านการเมืองการปกครองและการบริหารของประเทศนั้น ๆ



สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บัญญัติให้การบริหารราชการแผ่นดินแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ ล้วนอยู่ในการควบคุมดูแลของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดิน อันครอบคลุมไปถึงการกำหนดนโยบายเพื่อให้ข้าราชการนำไปปฏิบัติ การอำนวยความสะดวกและการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนตามกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา



การบริหารราชการส่วนกลาง : ใช้หลักการรวมอำนาจ โดยให้อำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการสูงสุดอยู่ในส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ แบ่งส่วนราชการออกเป็น (1) สำนักนายกรัฐมนตรี (2) กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง (3) ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง (4) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง สำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนราชการดังกล่าวนี้มีฐานะเป็นนิติบุคคล



การบริหารราชการส่วนภูมิภาค : ใช้หลักการแบ่งอำนาจ โดยราชการส่วนกลางเป็นเจ้าของอำนาจ แล้วแบ่งอำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการให้แก่ภูมิภาคนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และการปฏิบัติของภูมิภาคนั้นจะต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อนโยบายของส่วนกลางหรือของคณะรัฐมนตรี หรือตัวบทกฎหมายของประเทศ การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มี 2 ระดับ คือจังหวัด และอำเภอ



การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น : ใช้หลักการกระจายอำนาจ ที่ส่วนกลางได้มอบอำนาจระดับหนึ่งให้ประชาชนในท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองตนเองอย่างอิสระ โดยที่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน กิจกรรมที่ทำได้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการพัฒนา มีอิสระในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาหรือการสนับสนุนกิจกรรมของท้องถิ่น ออกข้อบังคับหรือระเบียบต่าง ๆ มาบังคับในเขตการปกครองของตนได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ในปัจจุบันมีรูปแบบ (1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (2) เทศบาล (3) สุขาภิบาล และ (4) ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

รัฐสภาไทย

รัฐสภาไทย












ประเภท สภาคู่

สภา วุฒิสภาไทย

สภาผู้แทนราษฎรไทย

ประธานรัฐสภา ชัย ชิดชอบ

รองประธานรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภา ประสพสุข บุญเดช

สมาชิก 630 คน

สมาชิกวุฒิสภา 150 คน

ผู้แทนราษฎร 480 คน

สถานที่ประชุม อาคารรัฐสภาไทย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย


      ห้องประชุมรัฐสภาไทยรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานอำนาจให้เป็นผู้ออกกฎหมายสำหรับการปกครองและการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกว่า อำนาจนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้รัฐสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะประชุมร่วมกัน หรือแยกกัน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา โดยตำแหน่ง


ประวัติรัฐสภาไทย

รัฐสภาของประเทศไทยกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้เปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์นี้แก่ผู้แทนราษฎรเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสืบต่อมา



ต่อมา เมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดสร้างอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้มีที่ประชุมเพียงพอกับจำนวนสมาชิก และมีที่ให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาใช้เป็นที่ทำงาน จึงได้มีการวางแผนการจัดสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ถึง 4 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ต้องระงับไปถึง 3 ครั้ง เพราะคณะรัฐมนตรีผู้ดำริต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน



ในครั้งที่ 4 แผนการจัดสร้างรัฐสภาใหม่ได้ประสบผลสำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงยืนยันพระราชประสงค์เดิมที่จะให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมและบริเวณ เป็นที่ทำการของรัฐสภาต่อไป และยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้เป็นที่จัดสร้างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นใหม่ด้วย



สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 โดยมีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ



หลังที่ 1 เป็นตึก 3 ชั้นใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง

หลังที่ 2 เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา

หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภา

สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ใช้ในการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นที่รับรองอาคันตุกะบุคคลสำคัญ ใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และมีโครงการใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นจัดสร้างพิพิธภัณฑ์รัฐสภา



ประธานรัฐสภาไทย
ดูบทความหลักที่ รายนามประธานรัฐสภาไทย

จนถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทย มีผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา รวม 28 คน ดังนี้



1. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร

28 มิถุนายน - 1 กันยายน 2475

15 ธันวาคม 2475 - 26 กุมภาพันธ์ 2476

2. เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร

2 กันยายน 2475 - 10 ธันวาคม 2476

3. พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี (พลเรือตรี กระแส ประวาหะนาวิน)

ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร

26 กุมภาพันธ์ 2476 - 22 กันยายน 2477

6 กรกฎาคม 2486 -24 มิถุนายน 2487

ประธานรัฐสภา และประธานพฤฒสภา

31 สิงหาคม 2489 - 9 พฤษภาคม 2490

15 พฤษภาคม 2490 - 8 พฤศจิกายน 2490

4. เจ้าพระยาศรีธรรมมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)

ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร

22 กันยายน 2477 - 15 ธันวาคม 2477

17 ธันวาคม 2477 - 31 กรกฎาคม 2478

7 สิงหาคม 2478 - 31 กรกฎาคม 2479

ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา

26 พฤศจิกายน 2490 - 18 กุมภาพันธ์ 2491

20 กุมภาพันธ์ 2491 - 14 มิถุนายน 2492

15 มิถุยายน 2492 - 20 พศจิกายน 2493

22 พฤศจิกายน 2493 - 29 พฤศจิกายน 2494

5. พระยามานวราชเสวี (วิเชียร ณ สงขลา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร

3 สิงหาคม 2479 - 10 ธันวาคม 2480

10 ธันวาคม 2480 -24 มิถุนายน 2481

28 มิถุยายน 2481 - 10 ธันวามคม 2481

12 ธันวาคม 2481 - 24 มิถุนายน 2482

28 มิถุนายน 2482 - 24 มิถุนายน 2483

1 กรกฎาคม 2483 - 24 มิถุนายน 2484

1 กรกฎาคม 2484 - 24 มิถุนายน 2485

30 มิถุนายน 2485 - 24 มิถุนายน 2586

2 กรกฎาคม 2487 - 24 มิถุนายน 2488

29 มิถุนายน 2488 - 15 ตุลาคม 2488

26 มกราคม 2489 - 9 พฤษภาคม 2489

6. พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ประธานรัฐสภา และประธานพฤฒสภา

4 มิถุนายน 2489 - 24 สิงหาคม 2489

7. พลเอก พระประจนปัจนึก (พุก มหาดิลก) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร

1 ธันวาคม 2494 - 17 มีนาคม 2495

22 มีนาคม 2495 - 23 มิถุนายน 2495

28 มิถุนายน 2495 -23 มิถุนายน 2496

2 กรกฎาคม 2496 - 23 มิถุนายน 2497

29 มิถุนายน 2497 - 23 มิถุนายน 2498

2 กรกกาคม 2498 - 23 มิถุนายน 2499

30 มิถุนายน 2499 - 25 กุมภาพันธ์ 2500

16 มีนาคม 2500 - 23 มิถุนายน 2500

28 มิถุนายน 2500 - 16 กันยายน 2500

27 ธันวาคม 2500 - 23 มิถุนายน 2501

25 มิถุนายน 2501 - 20 ตุลาคม 2501

8. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร)

ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร

20 กันยายน 2500 - 14 ธันวาคม 2500

ประธานรัฐสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

6 กุมภาพันธ์ 2502 - 17 เมษายน 2511

9. นายทวี บุณยเกตุ ประธานรัฐสภา และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

8 พฤษภาคม2511 -20 มิถุนายน 2511

10. พันเอก นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา

22 กรกฎาคม 2511 - 6 กรกฎาคม 2514

7 กรกฎาคม 2514 - 17 พฤศจิกายน 2514

11. พลตรีศิริ สิริโยธิน ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

18 ธันวามคม 2515 - 11 ธันวาคม 2516

12. พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

29 ธันวาคม 2516 -7 ตุลาคม 2517

13. นายประภาศน์ อวยชัย ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

17 ตุลาคม 2517 - 25 มกราคม 2518

14. นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร

7 กุมภาพันธ์ 2518 -12 มกราคม 2519

15. นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร

19 เมษายน 2519 - 6 ตุลาคม 2519

6 กุมภาพันธ์ 2544 - 5 มกราคม 2548

16. พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและประธานรัฐสภา

22 ตุลาคม 2519 - 20 พฤศจิกายน 2519

17. พลอากาศเอก หะริน หุงสกุล

ประธานรัฐสภา และประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

28 พฤศจิกายน 2519 - 20 ตุลาคม 2520

ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

25 พฤศจิกายน 2520 - 22 เมษายน 2522

ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา

9 พฤษภาคม 2522 - 19 มีนาคม 2526

18. นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา

26 เมษายน 2526 - 19 มีนาคม 2527

19. ศาสตราจารย์อุกฤษ มงคลนาวิน

ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา

30 เมษายน 2527 - 30 เมษายน 2528

1 พฤษภาคม 2528 - 23 เมษายน 2530

24 เมษายน 2530 - 22 เมษายน 2532

3 เมษายน 2335 - 26 พฤษภาคม 2535

ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

2 เมษายน 2534 - 21 มีนาคม 2535

20. ร้อยตำรวจตรี วรรณ ชันซื่อ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา

4 พฤษภาคม 2532 - 23 กุมภาพันธ์ 2534

21. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา

28 มิถุนายน 2535 - 29 มิถุนายน 2535

22. ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร

22 กันยายน 2535 - 19 พฤษภาคม 2538

23. นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร

11 กรกฎาคม 2538 27 กันยายน 2538

24. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร

24 พฤศจิกายน 2539 - 27 มิถุนายน 2543

25. นายพิชัย รัตตกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร

30 มิถุนายน 2543 - 9 พฤศจิกายน 2543

26. นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร

8 มีนาคม 2548 - 24 กุมภาพันธ์ 2549

27. นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร

23 มกราคม 2551 - เมษายน 2551

28. นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร

15 พฤษภาคม 2551 - (ปัจจุบัน)

อาคารรัฐสภาแห่งใหม่

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ อนุมัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2552 เป็นเงิน 12,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บนพื้นที่ 119 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย โดยจะต้องย้ายหน่วยราชการที่อยู่ในบริเวณนั้น ประกอบด้วย โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ช่างกล ขส.ทบ. และบ้านพักข้าราชการหทาร กรมราชองครักษ์ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553
โดยจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิน 900 วัน โดยคาดว่าจะเสร็จในต้นปี พ.ศ. 2556

ศาลยุติธรรมไทย

ศาลยุติธรรม (The Court of Justice) เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น




ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายอื่น



ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย

ศาลอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค

ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุด ที่มีอยู่เพียงศาลเดียว

สำนักงานศาลยุติธรรม

สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นองค์กรอิสระที่ดูแลงานธุรการของศาลยุติธรรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารงานบุคคลการงบประมาณและการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน




ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสา - ขบุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7

ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ


1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี



2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย



3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย



นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก

ป ร ะ วั ติ ค ว า ม เ ป็ น ม า ข อ ง วั น วิ ส า ข บู ช า ใ น ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย

วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "

ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน

ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย


ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย

'กบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร' โดยสาระสำคัญแล้ว การทำรัฐประหาร คือการใช้กำลังอำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ โดยมาก หากรัฐประหารครั้งนั้นสำเร็จ จะเรียกว่า 'ปฏิวัติ' แต่หากไม่สำเร็จ จะเรียกว่า 'กบฏ'

จาก พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2534 มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง ทั้งที่เป็น การปฏิวัติ และเป็น กบฏ มีดังนี้

พ.ศ. เหตุการณ์ หัวหน้าก่อการ รัฐบาล
2475 ปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
2476 รัฐประหาร พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
2476 กบฎบวรเดช พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2478 กบฎนายสิบ ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2481 กบฎพระยาสุรเดช พ.อ.พระยาสุรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2490 รัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง นายควง อภัยวงศ์
2491 รัฐประหาร คณะนายทหารบก นายควง อภัยวงศ์
2491 กบฏเสนาธิการ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2492 กบฎวังหลวง นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 กบฎแมนฮัตตัน น.อ.อานน บุณฑริกธาดา จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 รัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2497 กบฎสันติภาพ นายกุหราบ สายประสิทธิ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2500 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2501 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร
2514 รัฐประหาร จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ถนอม กิตติขจร
2516 ปฏิวัติ 14 ตุลาคม ประชาชน จอมพล ถนอม กิตติขจร
2519 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
2520 กบฎ 26 มีนาคม พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2520 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2524 กบฎ 1 เมษายน พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2528 การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน พ.อ.มนูญ รูปขจร * พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2534 รัฐประหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
* คณะบุคคลกลุ่มนี้ อ้างว่า พลเอก เสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า แต่หัวหน้าก่อการจริงคือ พ.อ. มนูญ รูปขจร

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย (2475 - 2534)

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

" คณะราษฎร " ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนบางกลุ่ม จำนวน 99 นาย มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงยินยอมตามคำร้องขอของคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติในครั้งนั้น

รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งซึ่งเป็นการริดรอนอำนาจภายในคณะราษฏร ที่มีการแตกแยกกันเอง
ในส่วนของการใช้อำนาจ ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น ให้มีศาลคดีการเมือง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอิสระอย่างเต็มที่ การประกาศทรัพย์สินของนักการเมืองทุกคนทุกตำแหน่ง การออกกฎหมายผลประโยชน์ขัดกัน ฯลฯ

กบฏบวชเดช 11 ตุลาคม 2476

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ก่อการเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาล โดยอ้างว่าคณะราษฎรปกครองประเทศไทยโดยกุมอำนาจไว้แต่เพียงแต่เพียงผู้เดียว และปล่อยให้บุคคลกระทำการหมิ่นองค์พระประมุขของชาติ รวมทั้งจะดำเนินการปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ คณะผู้ก่อการได้ยกกำลังเข้ายึดดอนเมืองเอาไว้ ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้ง พ.ท.หลวง พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ออกไปปราบปรามจนประสบผลสำเร็จ

กบฏนายสิบ 3 สิงหาคม 2478

ทหารชั้นประทวนในกองพันต่างๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา

กบฏพระยาทรงสุรเดช 29 มกราคม 2481

ได้มีการจับกุมบุคคลผู้คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณา และได้ตัดสินประหารชีวิตหลายคน ผู้มีโทษถึงประหารชีวิตบางคน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชานาญยุทธศิลป์ ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นผู้ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติมาก่อน

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

กบฏแบ่งแยกดินแดน 28 กุมภาพันธ์ 2491

จะมีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายคน เช่น นายทิม ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกผู้แทนราษฏรมีเอกสิทธิทางการเมือง

รัฐประหาร 6 เมษายน 2491

คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป

กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491

พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจะกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ

กบฏวังหลวง 26 มิถุนายน 2492

นายปรีดี พนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยกาปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง

กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494

นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือ กับทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปรามปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ

รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ต้องใช้วิธีการให้ตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น มีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป จึงได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสีย พร้อมกับนำเอารัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

กบฏสันติภาพ 8 พฤศจิกายน 2497

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และคณะถูกจับในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการรวมตัวกันเรี่ยไรเงิน และข้าวของไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากความแห้งแล้งอย่างหนัก เป็นการดำเนินการที่เป็นภัยต่อรัฐบาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501

เป็นการปฏิวัติเงียบอีกครั้งหนึ่ง โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ลากออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดการขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เป็นเครื่องตอบแทนกันมาก คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการปฏิวัติตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

ปฏิวัติโดยประชาชน 14 ตุลาคม 2516

การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่งได้แผ่ขยายกลายเป็นพลังประชาชนจำนวนมาก จนเกิดการปะทะสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายักรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลได้รับความไม่พอใจจากประชาชน และสถานการณ์จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างข้าราชการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีระยะเวลาถึง 12 ปีนั้นนานเกินไป สมควรให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว

กบฎ 26 มีนาคม 2520

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

กบฎ 1 เมษายน 2524

พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่มโดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลว ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้

การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน 2528

พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหาร และรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา และกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วน ภายใต้การนำของนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชากรทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร หลบหนีออกนอกประเทศ การก่อความไม่สงบในครั้งนี้มีอดีตนายทหารผู้ใหญ่หลายคน ตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพลอากาศเอกอรุณ พร้อมเทพ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่-ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณ-จันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมร-วิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และพลเอกอสิระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์กบฎ ร.ศ 130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)

เหตุการณ์กบฎ ร.ศ 130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)

ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษ ทางการสืบทราบว่ามีคณะนายทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่งจัดตั้งสมาคม "อานาคิช" (Anarchist) มีสมาชิกประมาณ ๘๐๐ - ๑,๐๐๐ คน มีจุดมุ่งหมายวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองลดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนพระมหากษัตริย์อังกฤษหรือพระมหาจักรพรรดิญี่ปุ่น
ทางการจึงเข้าจับกุมตัวการสำคัญในการคบคิดวางแผนการในตอนเช้าวันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐)
ผู้ถูกจับกุมชุดแรกคือ นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนทหารบก ถูกจับที่โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม, นายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง สังกัดกรมพระธรรมนูญทหารบก ถูกจับที่บ้านถนนสุรศักดิ์ และนายร้อยตรีเจือ ศิลาอาศน์ สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ ถูกจับที่กรมเสนาธิการทหารบก
การจับกุมตัวทหารผู้ก่อการกำเริบครั้งนี้ทำการหลายระลอก เฉพาะในวันแรกคือวันที่ ๑ มีนาคม จับกุมตัวนายทหารบกที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่ค้นพบจากบ้านขุนทวยหารพิทักษ์ ๕๘ คน เมื่อจับกุมมาได้ก็ให้มีการเขียนคำชี้แจงแบบซัดทอด ทำให้มีการขยายวงการสืบสวนออกไป และภายใน ๒ วัน ทางการก็จับกุมตัวผู้ต้องหาซัดทอดกันไปมาได้กว่าร้อยคน ส่วนผู้ต้องสงสัยแต่ยังไม่มีหลักฐานจับกุมเพียงพอก็ได้แต่งคนสะกดรอยเพื่อหาหลักฐานมัดตัวต่อไป เพราะหากหลักฐานไม่แน่นพอแล้วไปจับกุม สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ ทรงเกรงว่า จะทำให้ผู้คนแตกตื่นตกใจไปมาก


สมาชิกผู้เริ่มก่อการ

จากการสอบสวนของคณะกรรมการสรุปผลการสอบสวนและพิจารณาคดีซึ่งได้กราบบังคมทูลต่อองค์พระประมุขเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) มีความโดยย่อดังต่อไปนี้
คณะกลุ่มทหารบก นายทหารเรือ และบุคคลพลเรือนได้สมคบคิดกันเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง โดยเริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔ ตามศักราชเก่า) และประชุมต่อมาอีก ๗ ครั้งรวมเป็น ๘ ครั้งตามสถานที่ดังต่อไปนี้
สองครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม และ ๒๑ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ ที่บ้านนายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ ตำบลสาทร
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๘ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ ที่โบสถ์ร้างวัดช่องลม ช่องนนทรี
ครั้งที่ ๔ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ ที่ทุ่งนาห่างจากสถานีรถไฟคลองเตย ประมาณ ๖๐๐ เมตร
ครั้งที่ ๕ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ ที่สวนผักของพระสุรทัณฑ์พิทักษ์ บิดาของนายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุทธยา ที่ตำบลศาลาแดง
ส่วนอีกสามครั้งหลัง คือวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์, วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ และวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ ประชุมที่อนุกูลคดีกิจสถาน แถววังบูรพาภิรมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ว่าความของนายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง สำนักงานอนุกูลคดีกิจสถานใช้เป็นที่สมาชิกพบปะกันและเป็นสถานที่รับสมาชิกใหม่ด้วย
การประชุมครั้งแรกที่บ้านนายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์นั้น เป็นเสมือนหนึ่งสมาชิกผู้เริ่มก่อการมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ๙ คน คือ
1.นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ สังกัดกรมแพทย์ทหารบก อายุ ๓๐ ปี
2.นายร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ สังกัดกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ อายุ ๒๐ ปี
3.ว่าที่นายร้อยตรีสิริ ชุณห์ประไพ สังกัดกรมทหารราบที่ ๑๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ อายุ ๒๒ ปี
4.นายร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รัชนิกร สังกัดกองโรงเรียนนายสิบ กองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ อายุ ๒๒ ปี
5.ว่าที่นายร้อยตรีเขียน อุทัยกุล สังกัดกองโรงเรียนนายสิบ กองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ อายุ ๒๕ ปี
6.นายร้อยตรีปลั่ง บูรณะโชติ สังกัดกองปืนกลที่ ๑ อายุ ๒๒ ปี
7.นายร้อยตรีสอน วงษ์โต สังกัดกองปืนกลที่ ๑ อายุ ๒๓ ปี
8.นายร้อยตรีจรูญ ษะตะเมษ สังกัดกองปืนกลที่ ๑ อายุ ๒๖ ปี